ประวัติวัดนาครินทร์
ประวัติความเป็นมา
วัดนาครินทร์เริ่มก่อสร้างในครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๕ โดยตั้งอยู่ในบ้านขี้นาค ตำบลพิมาย (ปัจจุบันตำบลตูม) อำเภอขุขันธ์ (ปัจจุบันอำเภอปรางค์กู่) จังหวัดศรีสะเกษ ในอดีตชาวบ้านนิยมเรียกว่า วัดบ้านขี้นาค ซึ่งเป็นการเรียกตามชื่อของหมู่บ้านที่เป็นสถานที่ตั้งวัด โดยมีการผูกสีมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒ และเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๕ วัดนาครินทร์ ซึ่งมีเจ้าอธิการตา เหมิโกเป็นเจ้าอาวาสในขณะนั้น ได้ขอเปลี่ยนชื่อวัดจากวัดบ้านขี้นาคมาเป็นวัดนาครินทร์จนถึงปัจจุบัน โดยมีที่ดินในการตั้งวัดครั้งแรกจำนวน ๕ ไร่ ๓ งาน ๓๕ ตารางวา ซึ่งเกิดจากแรงศรัทธาของชาวบ้านในขณะนั้นที่ต้องการสร้างวัดเพื่อใช้เป็นสถานที่บำเพ็ญกุศลเนื่องในโอกาสต่าง ๆ ที่สำคัญ
ปี พ.ศ. ๒๕๓๗ คณะกรรมการวัดนาครินทร์ได้ประชุมและมีมติซื้อที่ดินทางด้านทิศตะวันออกของวัดเพิ่มใหม่อีกจำนวน ๒ ไร่ ซึ่งได้ปลูกต้นไม้อยู่ด้านทิศตะวันออกของวัด
ปี พ.ศ. ๒๕๕๑ ชาววัดนาครินทร์ยังมีจิตเป็นกุศลได้ร่วมกันจัดทำผ้าป่าเพื่อซื้อที่ดินฝั่งทิศตะวันออกเฉียงเหนือถวายวัดเพิ่มอีก จำนวน ๑ ไร่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นสถานที่สร้างฌาปนสถานประจำวัดนาครินทร์
ปี พ.ศ. ๒๕๕๗ คณะกรรมการวัดนาครินทร์ได้ประชุมและมีมติซื้อที่ดินทางด้านทิศเหนือของวัดเพิ่มอีก จำนวน ๑ ไร่ ๘ ตารางวา จำนวนเงิน ๕๕๐,๐๐๐ บาท (ห้าแสนห้าหมื่นบาทถ้วน) เพื่อก่อสร้างศาลาการเปรียญ
ปี พ.ศ. ๒๕๖๓ ทางวัดนาครินทร์ได้จัดซื้อที่ดินเพิ่ม เพื่อเป็นพุทธบูชา ด้านทิศตะวันออกของวัดอีก จำนวน ๔ ไร่ จำนวนเงิน ๑,๔๐๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งล้านสี่แสนบาทถ้วน) โดยได้รับบริจาคทุนทรัพย์จากผู้มีจิตศรัทธาร่วมเป็นเจ้าภาพซื้อที่ดิน รวมที่ดินทั้งหมดของวัดนาครินทร์ มีจำนวน ๑๓ ไร่ ๓ งาน ๔๓ ตารางวา
ที่ตั้งปัจจุบัน
สถานที่ตั้งวัดปัจจุบันเลขที่ ๑๗ หมู่ที่ ๖ ตำบลตูม อำเภอปรางค์กู่จังหวัดศรีสะเกษ ในเขตบริการวัดนาครินทร์มีอยู่ ๔ หมู่ บ้าน ๑ โรงเรียนคือ
๑. หมู่ ๖ บ้านขี้นาค ประกอบด้วย บ้านดู่ บ้านดง มี ๑๐๒ ครัวเรือน โดยมี นายเทวลิตร ทวีชาติ เป็นผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบัน
๒. หมู่ ๗ บ้านขี้นาคน้อยประกอบด้วย บ้านทุ่ม บ้านจาน มี ๙๔ ครัวเรือน โดยมีนายสุรัตน์ สถาน เป็นผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบัน
๓. หมู่ ๘ บ้านรงระ มี ๗๘ ครัวเรือน โดยมีนายจำรูญ นาคนวล เป็นผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบัน
๔. หมู่ ๙ บ้านพล็อง มี ๔๙ ครัวเรือน โดยมีนางดาวรุ่ง ผักไหม เป็นผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบัน
๕. โรงเรียนบ้านขี้นาค สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๒ และเปิดเป็นโรงเรียนขยายโอกาสเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๑ ปัจจุบันมีนายธนกฤต บุญปัญญา เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน มาดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๒
วัดเริ่มก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๕ และผูกพัทธสีมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒ หลังจากนั้นเมื่อวันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๓๓ ได้รับการแต่งตั้งเป็นหน่วยสงเคราะห์พุทธมามกะ วัดนาครินทร์ เป็นวัด ที่เก่าแก่วัดหนึ่งในเขตอำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ ทุก ๆ วันพระจะมีชาวบ้านมาทำบุญอยู่สม่ำเสมอ มากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่โอกาส แม้จะเป็นวัดที่ก่อตั้งมานาน แต่สิ่งก่อสร้าง ต่าง ๆ ภายในวัดมีน้อย เนื่องจากยังขาดทุนทรัพย์ และสถานที่คับแคบ ทำให้การพัฒนาเป็นไปไม่ค่อยเต็มที่ ชาวบ้านที่อยู่ในสังกัดส่วนใหญ่ถึงจะมีฐานะยากจน แต่ก็ตั้งใจบำรุงวัดและพระศาสนาอย่างดีเมื่อวัดมีงานบุญใหญ่อะไรก็ออกมาช่วย กันเต็มความสามารถด้านเสนาสนะอื่น ๆ ที่ยังขาดอยู่อีกหลายอย่าง ท่านใดมีจิตศรัทธาใคร่จะช่วยสร้างก็เชิญติดต่อกับเจ้าอาวาสโดยตรง โทร 0932249299
ทำเนียบเจ้าอาวาสวัดนาครินทร์
๑. เจ้าอธิการนนท์ เตชปญฺโญ พ.ศ. ๒๔๔๕ -๒๔๗๕
๒. พระอธิการลี ลกฺขิตฺตธมฺโม พ.ศ. ๒๔๗๕ – ๒๔๘๕
๓. พระอธิการแก้ว ฉนฺทสีโล พ.ศ. ๒๔๘๕ – ๒๔๙๑
๔. เจ้าอธิการตา เหมิโก พ.ศ. ๒๔๙๑ – ๒๕๑๐
๕. พระอธิการเฟื้อย วราโภ พ.ศ. ๒๕๑๐ – ๒๕๑๕
๖. พระครูวรรณสารโสภณ พ.ศ. ๒๕๑๕ – ปัจจุบัน
วัดนาครินทร์เคยมีเจ้าคณะตำบล ๔ รูป
๑. เจ้าอธิการนนท์ เตชปญฺโญ เจ้าคณะตำบลพิมาย อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ
๒. เจ้าอธิการเสก จตฺตสลฺโล เจ้าคณะตำบลพิมาย อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ
๓. เจ้าอธิการตา เหมิโก เจ้าคณะตำบลพิมาย อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ
๔. พระครูวรรณสารโสภณ – เจ้าคณะตำบลพิมาย – ตูม ๑๑ เมษายน ๒๕๒๙
๖ เมษายน ๒๕๔๒
– เจ้าคณะตำบล ตูม – สวาย ๗ เมษายน ๒๕๔๒ – ๑๘ ธันวาคม ๒๕๔๙
– รองเจ้าคณะอำเภอปรางค์กู่ เมื่อ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๔๙ -๒๔ ธันวาคม ๒๕๖๓
– ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่ ๑๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๔ เป็นเจ้าคณะอำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ
สิ่งก่อสร้างภายในวัด
๑. อุโบสถ
สร้าง ด้วยดินเหนียวผสมแกลบโดยอาศัยแรงงานจากชาวบ้านช่วยกันทำเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๐ แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๐ และได้ชำรุดทรุดโทรมต่อมาชาวบ้านช่วยกันบูรณะขึ้นมาใหม่ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๖ โดยฉาบปูนทับหินไว้แล้วก่อหลังคามุงด้วยสังกะสีข้างบนขึ้นมาใหม่ปัจจุบันยัง ใช้การได้อยู่ แต่มีสภาพทรุดโทรมลงไปมาก พระครูวรรณสารโสภณ ( เฟื่อง รวิวณฺโณ ) เจ้าอาวาสจึงได้ปรึกษากับชาวบ้านและตกลงสร้างอุโบสถหลังใหม่ขึ้น เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๔ โดยอาศัยทุนจากลูกหลานชาวบ้านที่ไปทำงานที่กรุงเทพ ฯ แล้วนำผ้าป่าและกฐินสามัคคีมาทอดถวายเป็นทุนก่อสร้างทุกปีปัจจุบันนี้ได้ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว และได้ทำพิธีผูกพัทธสีมา เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๕
๒. กุฏิที่พักสงฆ์
ก่อ สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๑ เป็นกุฏิไม้สองชั้น ทรงแฝดไทย ๓ หลังติดกันตรงกลางใช้เป็นที่สวดมนต์ทำวัตรของพระภิกษุสามเณรปีกทั้งสองด้าน เป็นที่พักของพระภิกษุสามเณรข้างล่างเป็นที่โล่งไว้เก็บของ (ปัจจุบันรื้อ แล้ว)
๓. ศาลาฟังธรรม
สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๑ เป็นอาคารไม้ยกพื้นสูง รองรับคนได้ ๑๕๐ – ๒๐๐ คน ขณะนี้ศาลามีสภาพชำรุดทรุดโทรม (ปัจจุบันรื้อแล้ว)
๔. โรงครัว
สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๖ ค่าก่อสร้างประมาณ ๓๐,๐๐๐ บาท (ปัจจุบันรื้อแล้ว)
๕. ห้องสุขา
สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๙ ค่าก่อสร้างประมาณ ๒๕,๐๐๐ บาท (ปัจจุบันรื้อแล้ว)
๖. กุฏิเจ้าอาวาส
สร้างเมื่อปี ๒๕๓๕ เป็นอาคารไม้สองชั้นชั้นล่างเป็นพื้นปูน ค่าก่อสร้างประมาณ ๔๐๐,๐๐๐ บาท
๗.อาคารศูนย์อบรบเด็กก่อนเกณฑ์ในวัดนาครินทร์ ได้รับการการอุปถัมภ์จากกรมการศาสนา สร้าง เมื่อ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๖ ค่าก่อสร้างประมาณ ๘๐,๐๐๐ บาท มีนางเพ็ญ สีสัน เป็นครูพี่เลี้ยงคนแรก ตั้งแต่ปี ๒๕๓๖ – ๒๕๔๔ ปัจจุบันลาออกแล้วและปัจจุบันมีครูพี่เลี้ยง ๒ คน คือ นางลัดดาวัลย์ ชัยวิเศษ และนางสาวแสงมณี พันจันดา
๘. กุฏิที่พักสงฆ์
สร้างเมื่อวันที่ ๒ พ.ย. ๒๕๔๑ เป็นอาคารครึ่งเหล็กครึ่งปูน กว้าง ๑๓.๕๕ เมตร ยาว ๑๘.๘ เมตร ค่าก่อสร้างประมาณ ๔๕๐,๐๐๐ บาท
๙. อาคารศาลาปฏิบัติธรรม
สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๔ เป็นอาคารเหล็ก ใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมและจัดกิจกรรมสำคัญของวัดค่าก่อสร้างประมาณ ๔๕๐,๐๐๐ บาท
๑๐. ศาลาหอฉัน
สร้าง เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๘ ลักษณะอาคารชั้นเดียว กว้าง ๑๓เมตร ยาว ๒๕ เมตร ใช้เป็นสถานที่ทำวัตรสวดมนต์เช้า – เย็นและใช้เป็นศาลาหอฉัน พร้อมทั้งเก็บอุปกรณ์ข้าวของเครื่องใช้ภายในวัด ค่าก่อสร้างประมาณ ๗๔๓,๙๘๐ บาท
๑๑. ห้องสมุด
สร้าง เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๙ เป็นอาคารต่อเติมออกจากกุฏิเจ้าอาวาส เพื่อใช้เป็นแหล่งค้นคว้า ข้อมูลทางพระพุทธศาสนาและข้อมูลโดยทั่วไป ค่าก่อสร้างประมาณ ๑๐๙,๙๙๐ บาท
๑๒. ห้องสุขา
สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๐ มีทั้งหมด ๑๖ ห้อง ค่าก่อสร้างประมาณ ๓๘๐,๐๐๐ บาท
๑๓. อาคารวรรณสารศาสน์
สร้างเมื่อ ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๓ เป็น อาคารครึ่งเหล็กครึ่งปูน ๒ ชั้น กว้าง ๙ เมตรยาว ๑๖ เมตร ค่าก่อสร้างประมาณ ๑,๕๐๐,๐๐๐ บาท
๑๔. กุฏิกัมมัฏฐาน
สร้างเมื่อ ๑๗ มีนาคม ๒๕๕๔ เป็นอาคารครึ่งเหล็กครึ่งปูน ค่าก่อสร้างประมาณ ๑๘๐,๐๐๐บาท
๑๕. กุฏิรับรอง
สร้างเมื่อ ๔ มิถุนายน ๒๕๕๔ เป็นอาคารครึ่งเหล็กครึ่งปูน ค่าก่อสร้างประมาณ ๒๕๐,๐๐๐ บาท จัดสร้างโดยพระสมุห์สุเทพ อนาวิโล เจ้าคณะตำบลขนงพระ เขต ๒ เจ้าอาวาสวัดตะเคียนทอง
๑๖. เมรุ
เริ่มก่อสร้าง ๖ สิงหาคม ๒๕๕๖ สิ้นสุดการก่อสร้าง ๒๔ มีนาคม ๒๕๕๘ เป็นเมรุ ๒ ชั้น ชั้นล่างเป็นห้องเก็บของ ชั้นบนเป็นที่ฌาปนกิจศพ บนกำแพงเมรุมีรูปปั้นพยานาคล้อมรอบ ค่าก่อสร้างทั้งสิ้น ๒,๕๒๗,๒๘๔ บาท
๑๗. สำนักงานวัดนาครินทร์
สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๙ เพื่อเป็นอนุสรณ์ในวันครบ ๑๐๐ วัน แห่งการมรณภาพของพระอินทร์ ฐานวีโร (หลวงตาดำ) เดิมเป็นอาคารรับรองอาคันตุกะ ปัจจุบันใช้เป็นสำนักงานเจ้าคณะอำเภอปรางค์กู่
๑๘. ศาลาการเปรียญ
สร้างเมื่อ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๙ ขนาด กว้าง ๒๒ เมตร ยาว ๕๖ เมตร ใช้เป็นสถานที่ประกอบกิจกรรมสำคัญต่างๆ ภายในศาลาประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่ ชื่อว่าพระพุทธมุนีศรีนาครินทร์ ขนาด หน้าตัก ๕ เมตร
๑๙. อาคารรับรองอาคันตุกะ
ก่อสร้างปี ๒๕๖๓ เป็นอาคารรับรองอาคันตุกะ ด้านในอาคารประกอบด้วย ห้องรับรองอาคันตุกะ ๑ ห้อง ห้องพักสำหรับพระภิกษุ ๑ ห้อง ห้องปฏิคม ๑ ห้อง และห้องน้ำ ๑ ห้อง สร้างเพื่อเป็นอนุสรณ์ในพิธีทำบุญอายุวัฒนมงคล ๗๕ ปี ๕๕ พรรษา พระครูวรรณสารโสภณ เจ้าอาวาสวัดนาครินทร์ ค่าก่อสร้างประมาณ ๑๕๐,๐๐๐ บาท
๒๐. น้ำปะปาวัด
สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๖๓ ความสูงของแท้งค์น้ำ ๑๒ เมตร ปั้มน้ำด้วยระบบโซล่าเซลล์ จัดสร้างด้วยงบส่วนตัวของพระครูวรรณสารโสภณ เจ้าอาวาสวัดนาครินทร์ ค่าก่อสร้าง ๑๘๗,๐๐๐ บาท
๒๑. เสาอโศก
เริ่มก่อสร้าง ๓๑ มกราคม ๒๕๖๔ สิ้นสุดการก่อสร้าง ๑๕ เมษายน ๒๕๖๔ เป็นเสาปูน สูงประมาณ ๙ เมตร บนเสาตั้งหัวสิงห์และธรรมจักร ฐานของเสาประดิษฐานรูปปั้นพระโพธิสัตว์สิทธิตถะกุมาร ปางประสูติ ดำเนินการสร้างโดย พระครูวรรณสารโสภณ เจ้าอาวาสวัดนาครินทร์ พร้อมคณะ เพื่อเป็นพุทธบูชา ค่าก่อสร้างทั้งสิ้น ๔๒๐,๖๕๐ บาท
๒๒. ศาลาโรงครัววัดนาครินทร์
เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ ๓ มกราคม ๒๕๖๕ สิ้นสุดการก่อสร้าง ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖ ขนาดยาว ๓๐ เมตร กว้าง ๑๓ เมตร สูง ๕ เมตร แบ่งเป็น ๓ ห้อง โครงสร้างก่อด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ลักษณะทรงไทยประยุกต์ มุงหลังคาด้วยสันไทย เทพื้นด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ติดตั้งไฟด้วยระบบโซล่าเซลล์ ติดตั้งระบบปะปา อ่างล้างจาน ค่าก่อสร้างทั้งสิ้น ๗๙๒,๕๗๖ บาท
๒๓. หอระฆังวัดนาครินทร์
เริ่มก่อสร้าง ๓ มกราคม ๒๕๖๔ สิ้นสุดการก่อสร้าง ๒๗ ธันวาคม ๒๕๖๕ ก่อสร้างด้วยปูน สูง ๓ ชั้น อุปถัมภ์การก่อสร้างโดย นายสมชัย-นางละมัย กระสังข์ และญาติๆ พร้อมทั้งพุทธศาสนิกชนร่วมสมทบในการก่อสร้าง ค่าก่อสร้างทั้งสิ้น ๑,๒๗๑,๑๒๖ บาท
๒๔. ท้าวเวสสุวรรณ
ประดิษฐาน ๒๗ ธันวาคม ๒๕๖๕ มีลักษณะสีดำ ขนาดกว้าง ๘๐ ซม. สูง ๓๒๐ ซม. หันหน้าไปทางทิศเหนือ โดยผู้มีจิตศรัทธานำมาถวาย
๒๕. ซุ้มประตูวัดนาครินทร์
เริ่มก่อสร้าง ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ สิ้นสุดการก่อสร้าง……… ก่อสร้างด้วยปูน ขนาดสูง …….. เมตร กว้าง …… เมตร อุปถัมภ์การก่อสร้างจากการทอดกฐินสามัคคี ประจำปี ๒๕๖๖ ของคณะลูกหลานตาทวดมนต
์ – ยายทวดขุย ทวีชาติ นำโดย คุณพ่อสำราญ-คุณแม่แซว ทวีชาติ และญาติๆ พร้อมทั้งพุทธศาสนิกชนร่วมสมทบในการก่อสร้าง ค่าก่อสร้างทั้งสิ้น…………………… บาท
๒๖. ห้องสุขา
สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๖๗ ก่อสร้างฝั่งทิศวันออกของวัด ขนาดยาว ๑๕ เมตร กว้าง ๔ เมตร มีทั้งหมด ๘ ห้อง ค่าก่อสร้างประมาณ ๒๒๐,๐๐๐ บาท
* หมายเหตุทั้ง ๔ หมู่บ้านเริ่มมีไฟฟ้าใช้ตามลำดับดังนี้ *
ในเขตวัดนาครินทร์ทั้ง ๔ หมู่บ้านเริ่มมีไฟฟ้าใช้เป็นลำดับดังต่อไปนี้ ฯ
บ้านขี้นาคใหญ่ หมู่ ๖ ต.ตูม อ.ปรางค์กู่จ.ศรีสะเกษ เริ่มมีไฟฟ้าใช้เมื่อ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๒ เป็นไฟฟ้าสมทบ ๓๐ % จากนายเริ่มรัฐ จิตรภักดี เป็น ส.ส. ศรีสะเกษ เขต ๒ ในขณะนั้น เป็นผู้จัดสรรหาให้
บ้านขี้นาคน้อย หมู่ ๗ ต.ตูม อ.ปรางค์กู่จ.ศรีสะเกษ เริ่มมีไฟฟ้าใช้เมื่อ ๒๑ กันยายน ๒๕๓๓ รัฐบาลเป็นผู้จัดสรรหามาให้ ๑๐๐%
บ้านรงระและบ้านพล็อง (หมู่ ๘ หมู่ ๙ )เริ่ม มีไฟฟ้าใช้เมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๓๓ รัฐบาลเป็นผู้จัดสรรหามาให้ในขณะนั้นบ้านรงระกับบ้านพล็องยังรวมกันอยู่เป็น หมู่เดียวกันคือหมู่ ๑๐ต.ตูม อ.ปรางค์กู่ จ.ศรีสะเกษซึ่งมีนายพันธ์ วิเศษชาติ เป็นผู้ใหญ่บ้านในขณะนั้น บ้านรงระกับ บ้านพล็องแยกออกจากกันเมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๓๔ โดยบ้านรงระเป็นหมู่ ๘ มีนายสน นาคนวลเป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก เมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๓๔ และบ้าน พล็องเป็นหมู่ ๙ มีนายพันธ์ วิเศษชาติ เป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ ๑๐ คนเดิมเป็นผู้ใหญ่บ้าน คนแรกเพราะมีภูมิลำเนาเดิมอยู่ในหมู่ ๙ ปัจจุบันนั้นเอง
ความเห็นล่าสุด