วัดนาครินทร์ (บ้านขี้นาค) ๑๗ หมู่ ๖ ตำบลตูม อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ ๓๓๑๗๐ โทร ๐๙๓ - ๒๒๔๙๒๙๙ , ๐๘๖ - ๘๘๒๘๓๕๙

ข้อบังคับของมูลนิธิ

 

ข้อบังคับ

มูลนิธิมูลนิธิพระครูวรรณสารโสภณ (เฟื่อง รวิวณฺโณ)

*****************

หมวดที่ 1

ชื่อเครื่องหมายและสำนักงานที่ตั้ง

ข้อ  1    มูลนิธินี้ชื่อว่า มูลนิธิพระครูวรรณสารโสภณ (เฟื่อง รวิวณฺโณ)  ย่อว่า  วฟร

เรียกชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า PHRAKRUWANNASANSOPHON FOUNDATION       ย่อว่า  PWF

ข้อ  2    เครื่องหมายของมูลนิธิ คือ

ย่อมาจาก พระครูวรรณสารโสภณ เป็นสมณศักดิ์ที่ได้รับพระราชทาน ใช้ตัวอักษรเป็นสีบรอนซ์เงิน หมายถึง  สีแห่งบริวารและกัลยาณมิตร เป็นสีมงคลตามวันเกิดของท่านคือวันพุธตอนกลางคืน

ย่อมาจาก เฟื่อง เป็นนามเดิมของท่าน ใช้ตัวอักษรสีเขียว หมายถึง มูละร่ำรวยเป็นสีมงคลตามวันเกิดของท่านคือวันพุธตอนกลางคืน

ย่อมาจาก รวิวณฺโณ เป็นฉายาของท่าน ใช้ตัวอักษรสีเหลือง หมายถึง สีของผ้ากาสาวพัสตร์

ฐานดอกบัวบาน ใช้ภาพที่เป็นสีเขียว สีเหลือง สีชมพู และสีขาว หมายถึง ความเบ่งบานของพระศาสนาจากมูลนิธิ โดยได้รับความร่วมมือของศิษยานุศิษย์ และพุทธศาสนิกชน ผู้ร่วมเป็นฐานเริ่มต้นในการจัดตั้งและสนับสนุนให้เกิดมูลนิธิพระครูวรรณสารโสภณ (เฟื่อง รวิวณฺโณ) มีอักษรไทยอยู่ด้านบนความว่า มูลนิธิพระครูวรรณสารโสภณ (เฟื่อง รวิวณฺโณ) อักษรภาษาอังกฤษอยู่ด้านล่างความว่า  PHRAKRUWANNASANSOPHON FOUNDATION ในกรณีที่เป็นภาพขาวดำให้มีเฉพาะลายเส้น ตามรูปที่ปรากฏด้านล่างนี้

    เครื่องหมายมูลนิธิ

ข้อ  3    สำนักงานใหญ่ของมูลนิธิตั้งอยู่ที่ วัดนาครินทร์ เลขที่ ๑๗ หมู่ ๖ ตำบลตูม อำเภอปรางค์กู่
จังหวัดศรีสะเกษ

สำนักงานสาขาตั้งอยู่ที่    –

หมวดที่ 2

วัตถุประสงค์

ข้อ  4    วัตถุประสงค์ของมูลนิธินี้ คือ

4.1 เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาของพระภิกษุสามเณรและบุคคลทั่วไป

4.2 เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการปฏิบัติธรรมของบรรพชิตและคฤหัสถ์

4.3 เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนช่วยเหลือพระภิกษุสามเณรและบุคคลทั่วไปที่ป่วยติดเตียง

4.4 เพื่อดำเนินการหรือร่วมมือกับองค์กรการกุศลเพื่อการกุศล  และดำเนินการหรือร่วมมือกับ

องค์กรสาธารณประโยชน์เพื่อสาธารณประโยชน์

4.5  ไม่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการเมืองแต่ประการใด

หมวดที่ 3

ทุนทรัพย์  ทรัพย์สิน  และการได้มาซึ่งทรัพย์สิน

ข้อ  5    ทุนทรัพย์ของมูลนิธิมีทุนเริ่มแรก คือ

5.1 เงินสด จำนวน ๕๐๐,๐๐๐บาท (ห้าแสนบาทถ้วน)

ข้อ  6    มูลนิธิอาจได้มาซึ่งทรัพย์สินโดยวิธีต่อไปนี้

6.1 เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้ยกให้โดยพินัยกรรมหรือนิติกรรมอื่นๆ โดยมิได้มีเงื่อนไขผูกพันให้มูลนิธิ

ต้องรับผิดชอบในหนี้สินหรือภาระติดพันอื่นใด

6.2 เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้มีจิตศรัทธาบริจาคให้

6.3 ดอกผลซึ่งเกิดจากทรัพย์สินของมูลนิธิ

6.4 รายได้อันเกิดจากการจัดกิจกรรมซึ่งอยู่ภายในขอบวัตถุประสงค์ของมูลนิธิ

หมวดที่ 4

คุณสมบัติและการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการ

ข้อ  7   กรรมการของมูลนิธิต้องมีคุณสมบัติดังนี้

7.1 มีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์

7.2 ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย หรือไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ

7.3 ไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก  เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

ข้อ  8    กรรมการของมูลนิธิพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ

8.1 ถึงคราวออกตามวาระ

8.2 ตาย หรือ ลาออก

8.3 ขาดคุณสมบัติตามข้อบังคับ  ข้อ  7

8.4 เป็นผู้มีความประพฤติและปฏิบัติตนเป็นที่เสื่อมเสีย และคณะกรรมการมูลนิธิมีมติให้ออก

โดยมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนกรรมการมูลนิธิ

หมวดที่ 5

การดำเนินงานของคณะกรรมการของมูลนิธิ

ข้อ  9    มูลนิธินี้ดำเนินการโดยคณะกรรมการมูลนิธิ มีจำนวนไม่น้อยกว่า ๕ คน แต่ไม่เกิน ๑๕ คน

ข้อ  10  คณะกรรมการมูลนิธิ ประกอบด้วย ประธานกรรมการมูลนิธิ รองประธาน กรรมการมูลนิธิ

เลขานุการมูลนิธิ ผู้ช่วยเลขานุการมูลนิธิ เหรัญญิก และกรรมการอื่น ๆ ตามจำนวนที่เห็นสมควรตาม
ข้อบังคับ ข้อ 9

ข้อ 11   การแต่งตั้งกรรมการมูลนิธิ ให้ปฏิบัติ ดังนี้

ให้คณะกรรมการมูลนิธิชุดที่ดำรงตำแหน่งอยู่แต่งตั้งประธานกรรมการมูลนิธิ และ

กรรมการอื่น ๆ ตามจำนวนที่เห็นสมควรตามข้อบังคับ

ข้อ 12   กรรมการดำเนินงานมูลนิธิอยู่ในตำแหน่งคราวละ ๔ ปี

ข้อ 13  การแต่งตั้งคณะกรรมการมูลนิธิ ให้ถือเสียงข้างมากของที่ประชุมคณะกรรมการมูลนิธิเป็นมติของ

ที่ประชุม

ข้อ 14  กรรมการมูลนิธิที่พ้นจากตำแหน่งตามวาระ อาจได้รับแต่งตั้งเข้าเป็นกรรมการมูลนิธิได้อีก

ข้อ 15  ในกรณีที่กรรมการของมูลนิธิพ้นจากตำแหน่งถึงคราวออกตามวาระ ให้กรรมการของมูลนิธิ

ที่พ้นจากตำแหน่งจากการถึงคราวออกตามวาระปฏิบัติหน้าที่กรรมการของมูลนิธิต่อไป

จนกว่ามูลนิธิจะได้รับแจ้งการจดทะเบียนกรรมการของมูลนิธิที่ตั้งใหม่

หมวดที่ 6

อำนาจหน้าที่คณะกรรมการมูลนิธิ

ข้อ  16  คณะกรรมการมูลนิธิมีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินกิจการของมูลนิธิตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิ และ

ภายใต้ข้อบังคับนี้ ให้มีอำนาจหน้าที่ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

16.1   กำหนดนโยบายของมูลนิธิ และดำเนินการตามนโยบายนั้น

16.2   ควบคุมการเงินและทรัพย์สินต่าง ๆ ของมูลนิธิ

16.3   เสนอรายงานกิจการ รายงานการเงิน และบัญชีรายรับ – รายจ่าย  ต่อนายทะเบียน

16.4   ดำเนินการให้เป็นไปตามมติที่ประชุมคณะกรรมการมูลนิธิและวัตถุประสงค์ของข้อบังคับนี้

16.5   ตราระเบียบเกี่ยวกับการดำเนินกิจการของมูลนิธิ

16.6   แต่งตั้งหรือถอดถอนคณะอนุกรรมการขึ้นคณะหนึ่งหรือหลายคณะ  เพื่อดำเนินการ

เฉพาะอย่างของมูลนิธิ ภายใต้การควบคุมของคณะกรรมการมูลนิธิ

16.7   เชิญผู้ทรงคุณวุฒิ หรือบุคคลที่ทำประโยชน์ให้มูลนิธิเป็นพิเศษเป็นกรรมการกิตติมศักดิ์

16.8   เชิญผู้ทรงเกียรติเป็นผู้อุปถัมภ์มูลนิธิ

16.9   เชิญผู้ทรงคุณวุฒิเป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมการมูลนิธิ

16.10  แต่งตั้งหรือถอดถอนเจ้าหน้าที่ประจำของมูลนิธิ หรือมติให้ดำเนินการ ตามข้อ 16.6,

16.7, 16.8 และ 16.9 ต้องเป็นมติเสียงข้างมากของที่ประชุม และที่ปรึกษาตามข้อ 16.9

ย่อมเป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมการมูลนิธิที่เชิญเท่านั้น

ข้อ 17 ประธานกรรมการมูลนิธิ มีอำนาจหน้าที่ ดังนี้

17.1 เป็นประธานของการประชุมคณะกรรมการมูลนิธิ

17.2 สั่งเรียกประชุมคณะกรรมการมูลนิธิ

17.3 เป็นผู้แทนของมูลนิธิในการติดต่อกับบุคคลภายนอก หรือการลงลายมือชื่อในเอกสาร ข้อบังคับ

และสรรพหนังสืออันเป็นหลักฐานของมูลนิธิ เมื่อประธานกรรมการมูลนิธิหรือกรรมการมูลนิธิ

ผู้ได้รับมอบหมายให้ทำการแทน ได้ลงลายมือชื่อแล้วจึงเป็นอันใช้ได้

17.4 ปฏิบัติการอื่น ๆ  ตามข้อบังคับ และมติของคณะกรรมการมูลนิธิ

ข้อ 18  ให้รองประธานกรรมการมูลนิธิ ทำหน้าที่แทนประธานกรรมการมูลนิธิ เมื่อประธานไม่สามารถปฏิบัติ

หน้าที่ได้ หรือในกรณีที่ประธานมอบหมายให้ทำการแทน

ข้อ 19  ถ้าประธานกรรมการมูลนิธิและรองประธานกรรมการมูลนิธิ  ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ในการประชุม

คราวหนึ่งคราวใดได้ ให้ที่ประชุมเลือกตั้งกรรมการมูลนิธิคนใดคนหนึ่งเป็นประธานสำหรับการประชุม

คราวนั้น

ข้อ 20  เลขานุการมูลนิธิ มีหน้าที่ควบคุมกิจการ และดำเนินการประชุมของมูลนิธิ ติดต่อประสานงานทั่วไป

รักษาระเบียบ ข้อบังคับของมูลนิธิ นัดประชุมกรรมการตามคำสั่งของประธานกรรมการมูลนิธิ และ

ทำรายงานการประชุม ตลอดจนรายงานกิจการของมูลนิธิ

ข้อ 21  เหรัญญิก มีหน้าที่ควบคุมการเงิน ทรัพย์สินของมูลนิธิ ตลอดจนบัญชี และเอกสารที่เกี่ยวข้อง

ให้ถูกต้องและเป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการมูลนิธิกำหนด

ข้อ 22  สำหรับกรรมการตำแหน่งอื่น ๆ ให้มีหน้าที่ตามที่คณะกรรมการมูลนิธิกำหนด โดยทำเป็นคำสั่ง

ระบุอำนาจหน้าที่ให้ชัดเจน

ข้อ 23  คณะกรรมการมูลนิธิ มีสิทธิเข้าร่วมประชุมกรรมการ หรืออนุกรรมการอื่น ๆ ของมูลนิธิได้

หมวดที่ 7

อนุกรรมการ

ข้อ  24  คณะกรรมการมูลนิธิอาจแต่งตั้งหรือถอดถอนอนุกรรมการได้ตามความเหมาะสม โดยจะแต่งตั้ง

ให้เป็นคณะอนุกรรมการประจำ หรือเพื่อการใดเป็นกรณีพิเศษเฉพาะคราวใดก็ได้ และในกรณีที่

คณะกรรมการมูลนิธิไม่ได้แต่งตั้งประธานอนุกรรมการ เลขานุการหรืออนุกรรมการในตำแหน่งอื่นไว้

ก็ให้อนุกรรมการและคณะแต่งตั้งกันเองเพื่อดำรงตำแหน่งดังกล่าวก็ได้

ข้อ  25  อนุกรรมการอยู่ในตำแหน่งจนกว่าจะเสร็จภารกิจที่ได้รับมอบหมายให้กระทำ ส่วนอนุกรรมการ

ประจำอยู่ในตำแหน่งตามเวลาที่คณะกรรมการมูลนิธิกำหนด ซึ่งถ้ามิได้กำหนดไว้ให้อยู่ในตำแหน่ง

ได้เพียงเท่าวาระของคณะกรรมการมูลนิธิซึ่งเป็นผู้แต่งตั้ง และอนุกรรมการที่พ้นจากตำแหน่ง

อาจได้รับการแต่งตั้งอีกก็ได้

25.1 อนุกรรมการ มีหน้าที่ดำเนินการตามที่คณะกรรมการมูลนิธิมอบหมาย

25.2 อนุกรรมการ มีหน้าที่เสนอความคิดเห็นต่อคณะกรรมการมูลนิธิเกี่ยวกับงานที่ได้รับมอบหมาย

หมวดที่ 8

การประชุมคณะกรรมการมูลนิธิ

ข้อ  26  คณะกรรมการมูลนิธิ จะต้องจัดให้มีการประชุมสามัญประจำปีทุก ๆ ปี ภายในเดือนพฤศจิกายน
และต้องมีกรรมการมูลนิธิเข้าประชุมอย่างน้อยกึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด

จึงจะเป็นองค์ประชุม

ข้อ 27   การประชุมวิสามัญ อาจมีได้ในเมื่อประธานกรรมการมูลนิธิหรือเมื่อคณะกรรมการมูลนิธิ
ตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปแสดงความประสงค์ไปยังประธานกรรมการมูลนิธิหรือผู้ทำการแทน ขอให้มีการ
ประชุมก็ให้มีการเรียกประชุมวิสามัญได้ สำหรับองค์ประชุมให้ใช้ข้อ 26 บังคับโดยอนุโลม

ข้อ 28   กำหนดการประชุมและองค์ประชุมของคณะอนุกรรมการ ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการมูลนิธิ

กำหนดไว้ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการประชุมให้คณะอนุกรรมการตกลงกันเอง และในส่วนที่เกี่ยวข้อง

กับองค์ประชุมให้ใช้ ข้อ 26 บังคับโดยอนุโลม

ข้อ 29  ในการประชุมคณะกรรมการมูลนิธิหรือคณะอนุกรรมการ หากมิได้มีข้อบังคับกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น

มติของที่ประชุมให้ถือเอาคะแนนเสียงข้างมาก ในกรณีที่มีคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุม

เป็นผู้ชี้ขาด กิจการใดที่เป็นงานประจำหรือเป็นกิจการเล็กน้อย ประธานกรรมการมูลนิธิมีอำนาจสั่งให้

ใช้วิธีสอบถามมติทางหนังสือแทนการเรียกประชุมคณะกรรมการมูลนิธิ แต่ประธานกรรมการมูลนิธิ

ต้องรายงานต่อที่ประชุมคณะกรรมการมูลนิธิในคราวต่อไป ถึงมติและกิจการที่ได้ดำเนินการไปตาม

มตินั้น กิจการใดที่เป็นงานประจำหรือเป็นกิจการเล็กน้อยหรือไม่ ย่อมอยู่ในดุลพินิจของประธาน

กรรมการมูลนิธิ

ข้อ 30 ในการประชุมคณะกรรมการมูลนิธิ หรือคณะอนุกรรมการ ประธานกรรมการมูลนิธิ หรือประธาน

ในที่ประชุม มีอำนาจเชิญหรืออนุญาตให้บุคคลที่เห็นสมควรเข้าร่วมประชุมในฐานะแขกผู้มีเกียรติ หรือ

ผู้สังเกตการณ์ หรือเพื่อชี้แจง หรือเพื่อให้คำปรึกษาแก่ที่ประชุมได้

หมวดที่ 9

การเงิน

ข้อ  31  ในกรณีเร่งด่วนให้ประธานกรรมการมูลนิธิ หรือรองประธานกรรมการมูลนิธิ ในกรณีทำหน้าที่แทน

มีอำนาจสั่งจ่ายเงินได้คราวละไม่เกิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งแสนบาทถ้วน)

แล้วต้องรายงานให้คณะกรรมการมูลนิธิทราบในการประชุมคราวต่อไป ถ้าเกินกว่าจำนวนดังกล่าว

ต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการมูลนิธิ โดยเสียงข้างมากก่อน

ข้อ 32   เหรัญญิกมีอำนาจเก็บรักษาเงินสดได้ครั้งละไม่เกิน 50,000.- บาท (ห้าหมื่นบาทถ้วน) แล้วต้อง

รายงานให้คณะกรรมการมูลนิธิทราบในการประชุมคราวต่อไป

ข้อ 33   เงินสดของมูลนิธิ หรือเอกสารสิทธิ ต้องนำฝากไว้กับธนาคาร หรือสถาบันการเงินอื่นใดที่รัฐบาล
ค้ำประกัน แล้วแต่คณะกรรมการมูลนิธิจะเห็นสมควร และหากมูลนิธิประสงค์จะซื้อพันธบัตรรัฐบาล

ให้ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการก่อน แต่ทั้งนี้ต้องไม่นำทรัพย์สินส่วนที่เป็นทุนมาดำเนินการ

ดังกล่าว

ข้อ 34  การสั่งจ่ายเงินของมูลนิธิโดยเช็ค จะต้องมีลายมือชื่อของประธานกรรมการมูลนิธิ หรือผู้ทำการแทน

กับเลขานุการ หรือเหรัญญิก ลงนามทุกครั้ง จึงจะเบิกจ่ายได้

ข้อ 35  การใช้จ่ายเงินตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิ รวมทั้งค่าใช้จ่ายประจำสำนักงาน ให้จ่ายเพียงดอกผล

อันเกิดจากทรัพย์สินที่เป็นทุนของมูลนิธิ เงินที่ผู้บริจาคมิได้แสดงเจตนาให้เป็นเงินสมทบทุนโดยเฉพาะ

และรายได้อันเกิดจากการจัดกิจกรรมของมูลนิธิ

ข้อ 36 ให้คณะกรรมการมูลนิธิ วางระเบียบเกี่ยวกับการเงิน บัญชี และทรัพย์สินของมูลนิธิ ตลอดจนกำหนด

อำนาจหน้าที่ต่าง ๆ เกี่ยวกับการรับและจ่ายเงิน นอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ

ข้อ 37 ให้คณะกรรมการมูลนิธิ จัดทำรายงานสถานะการเงินของมูลนิธิ ในรอบระยะเวลาบัญชีที่ผ่านมา

เสนอต่อที่ประชุมในการประชุมสามัญประจำปี

หมวดที่ 10

การแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับของมูลนิธิ

ข้อ 38 การแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับ จะกระทำได้โดยเฉพาะที่ประชุมคณะกรรมการมูลนิธิ ซึ่งต้องมีกรรมการ

มูลนิธิเข้าประชุมไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนกรรมการทั้งหมด และการอนุมัติให้แก้ไขหรือเพิ่มเติม

ข้อบังคับต้องประกอบด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการที่เข้าประชุม

หมวดที่ 11

การเลิกมูลนิธิ

ข้อ 39 ถ้ามูลนิธิต้องเลิกล้มไปโดยมติของคณะกรรมการหรือโดยเหตุผลใดก็ตาม ทรัพย์สินทั้งหมดของมูลนิธิ

ที่เหลืออยู่ให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่วัดนาครินทร์ ตำบลตูม อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ

ข้อ 40  การสิ้นสุดของมูลนิธินั้น นอกจากที่กฎหมายบัญญัติไว้แล้ว ให้มูลนิธิเป็นอันสิ้นสุดลงโดยมิต้อง

ให้ศาลสั่งเลิกด้วยเหตุต่อไปนี้

40.1 เมื่อมูลนิธิได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจัดตั้งเป็นนิติบุคคลแล้ว ไม่ได้รับทรัพย์สิน

ตามคำมั่นเต็มจำนวน

40.2 เมื่อกรรมการมูลนิธิ จำนวนสองในสามมีมติให้ยกเลิก

40.3 เมื่อมูลนิธิไม่อาจหากรรมการได้ครบตามจำนวนกรรมการที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของมูลนิธิ

40.4 เมื่อมูลนิธิไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ไม่ว่าด้วยเหตุใด

หมวดที่ 12

บทเบ็ดเตล็ด

ข้อ 41 การตีความในข้อบังคับมูลนิธิ หากเป็นที่สงสัยให้คณะกรรมการมูลนิธิโดยเสียงข้างมากของจำนวน

กรรมการที่มีอยู่เป็นผู้ชี้ขาด

ข้อ 42 ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมูลนิธิมาใช้บังคับ ในเมื่อข้อบังคับ

ของมูลนิธิไม่ได้กำหนดไว้ หรือกำหนดไว้ขัดแย้ง

ข้อ 43 มูลนิธิต้องไม่ดำเนินการหาผลประโยชน์มาแบ่งปันกัน หรือเพื่อบุคคลใด นอกจากเพื่อดำเนินการ

ตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธินั้นเอง

                                                               (พระครูวรรณสารโสภณ (เฟื่อง อัครชาติ) )

                                          ประธานกรรมการมูลนิธิพระครูวรรณสารโสภณ (เฟื่อง รวิวณฺโณ)